เดี๋ยวเน็ตก็ช้า สัญญาณไวไฟหายจาก 4–5 ขีด เดินข้ามห้องก็หลุด หรือพอเข้าห้องนอนแล้วก็ไม่เห็นแรงเหมือนตอนอยู่ชั้นล่าง ปัญหาอินเทอร์เน็ตไม่แรง ไวไฟไม่แรงแบบนี้เป็นใครก็หงุดหงิด ใช่ไหม?
วันนี้ Mana Pattanakarn ขอนำเสนอไอเดียกว้างๆ ในการวางแผนติดตั้งเราท์เตอร์ไวไฟ (WiFi Router) ให้บ้านหรือคอนโดของคุณอย่างเป็นระบบ ลองนำแนวคิดเหล่านี้ไปพิจารณาดู
เลือกยี่ห้ออินเทอร์เน็ตเจ้าไหนดี? — ถามคนละแวกบ้าน
ถ้าลองค้นหากระทู้ในสื่อสังคมออนไลน์จะพบว่ามีคนบ่นว่าอินเทอร์เน็ตยี่ห้อนั้นไม่ดี ยี่ห้อนี้ไม่เร็ว บ้างก็ดีแย่สลับกันไปจนเลือกไม่ได้สักที แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้พิจารณาคือแต่ละพื้นที่มีระยะของชุมสายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่เหมือนกัน ไปย
สิ่งที่เราขอแนะนำให้ลองทำคือลองสอบถามเพื่อนบ้าน นิติบุคคล ว่าในพื้นที่หมู่บ้านของคุณมีอินเทอร์เน็ตยี่ห้อไหนให้เลือกใช้บ้าง จากนั้นค่อยเปรียบเทียบความเร็วและราคา บางแพคเกจจะมีพ่วงโปรโมชันมือถือหรือกล่องดูทีวีด้วย อันนี้ต้องไปลองดีดลูกคิดกันดูว่าจะเลือกแพคไหน จากนั้นสมัคร โทรนัดติดตั้ง และลางานมาบรีฟงานกับช่างที่จะเข้ามาในวันนัดให้เรียบร้อย
วางเราท์เตอร์ไว้ตรงไหนดี — บ้านที่ดี จะคิดมาให้แล้ว
ในการติดตั้ง ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะลากสายไฟเบอร์หรือเคเบิลเข้ามาในตัวบ้าน ในบ้านบางโครงการสมัยใหม่จะทำกล่องไว้รอเชื่อมต่อกับสายโดยไม่ต้องเจาะตัวอาคารมาให้แล้ว ลองสอบถามและประสานงานระหว่างนิติฯ ดูได้เลย
เราท์เตอร์ โมเด็ม หรือตัวกระจายสัญญาณไวไฟที่ผู้ให้บริการมีให้นั้นจะมีคุณภาพดีในระดับหนึ่งที่สามารถครอบคลุมอาคารหรือบ้านได้เพียง 1–2 ชั้นเท่านั้น ควรวางในที่โล่งไม่มีสิ่งของบดบังให้ได้มากที่สุด เราท์เตอร์บางชนิดมีเสายื่นออกมา ก็ให้เอียงทำมุมไปยังส่วนต่างๆ ของบ้าน บางรุ่นที่ไม่มีเสา ก็วางในพื้นที่ที่โล่งเท่าที่จะโล่งได้ก็พอ
หากดีขึ้นไปอีก บางบ้านเดินสายแลน (LAN, สาย Ethernet) ไว้ตามจุดต่างๆ เช่น หลังทีวี หรือโต๊ะทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว เราก็นำเราท์เตอร์ของผู้ให้บริการมาเชื่อมเข้ากับระบบเครือข่ายของบ้านได้เลย
หากมองลึกลงไปอีกสักหน่อย ปัจจุบันสัญญาณไวไฟจะแยกคลื่นความถี่ออกเป็นสองคลื่น คือ 2.4GHz (รับส่งได้ไกล แต่ไม่เร็วมาก) และ 5GHz (รับส่งได้ไม่ไกล แต่เร็วกว่า) เราท์เตอร์บางตัวจะแยกชื่อไวไฟเป็นสองชื่อให้เราเลือกใช้ หรือเราท์เตอร์ที่ฉลาดหน่อยก็จะจัดลำดับคุณภาพสัญญาณให้อุปกรณ์แต่ละชนิดเอง
เมื่อเราท์เตอร์แถม แรงและครอบคลุมไม่พอ — เพิ่มจำนวนตัวกระจายสัญญาณ
เมื่อเราท์เตอร์ตัวเดียวกระจายสัญญาณได้ไม่ทั่วบ้าน มีหลากหลายวิธีที่จะทำให้สัญญาณครอบคลุมทั่วบ้าน ตั้งแต่
เพิ่มอุปกรณ์ทวนสัญญาณ — เลือกซื้อ Access Point ที่สามารถตั้งค่าให้เป็นตัวทวนสัญญาณ (repeater) หรือขยายสัญญาณ (range extender)ให้สัญญาณไวไฟไปได้ไกลขึ้นอีก คือรับสัญญาณแล้วมากระจายต่อ ข้อดีคือราคาไม่แพง วางในจุดที่สัญญาณยังดีเพื่อเพิ่มแรงส่งให้สัญญาณกระจายต่อ ข้อเสียคืออุปกรณ์ต่างยี่ห้อกันอาจต้องตั้งชื่อไวไฟต่างกัน และมีอาการหน่วงเพราะข้อมูลต้องส่งต่อหากันสองทอด ความเร็วจะหารสองจากความเร็วปกติ
เปลี่ยนเราท์เตอร์เป็นระบบ mesh — เราท์เตอร์สมัยใหม่ (ปี 2019+) จะมีขายเป็นชุดๆ 2–3 ตัวในแบบที่เรียกว่า mesh router คือวางตัวแม่ไว้ที่จุดที่สายของผู้ให้บริการฯ เดินไว้ แล้ววางตัวลูกไว้ในบริเวณต่างๆ ของบ้าน โดยตัวมันเองจะเชื่อมและทวนสัญญาณหากันอย่างเข้ากันว่าแบบแรก ระบบนี้จะช่วยคิดและเลือกให้ว่าอุปกรณ์ของคุณจะไปเกาะกับเราท์เตอร์ตัวไหนแล้วจะทำงานได้ดีที่สุด ทั้งบ้านจะเห็นเป็นชื่อไวไฟเดียว ไม่ต้องคอยสลับไป เดินข้ามห้องได้เลย หากบ้านไหนที่มีพอร์ต LAN หลังทีวี ก็เอาเจ้า mesh router ตัวลูก ไปวางแล้วเสียบสายแลนได้เลย ก็ได้วงไวไฟที่เสถียรกว่า
เลือกให้ดี เลือกให้จบ
การวางแผนเดินระบบเครือข่าย หรือไวไฟในบ้าน ถ้าเป็นไปได้ขอให้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญวางแผนก่อนนำเฟอร์นิเจอร์หรือเข้าอาศัย ทำให้เสถียรและจบตั้งแต่แรก เพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคต ยิ่งถ้าเป็นระบบ smart home ที่ต้องสื่อสารกับอุปกรณ์ IoT ชิ้นต่างๆ ในบ้าน ระบบอินเทอร์เน็ตต้องเสถียรอย่างยิ่ง
คำศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับระบบไวไฟและอินเทอร์เน็ตในบ้าน
WIFI 802.11 1200AC, N, WIFI 6 — ระบบไวไฟจะมีเกรดความเร็วของมันอยู่ ยิ่งเลขสูงจะยิ่งรับส่งข้อมูลได้ไว (คือแรง) ดังนั้นควรเลือกระบบไวไฟที่เพียงพอต่อการใช้งานและแพคเกจที่ใช้ เช่น ถ้าเน็ตเข้าบ้านเป็นแบบ 1Gbps (~1,000Mbps) ควรเลือกเราท์เตอร์ไวไฟที่รองรับความเร็วระดับนั้น
Download / Upload — ความเร็วของอินเทอร์เน็ตจะแบ่งเป็นสองขาคือ ขาที่ข้อมูลเข้ามาและขึ้นไป ปกติโปรโมชันของผู้ให้บริการ จะบอกเลขเป็น เช่น 100/50 คือเข้าใจตรงกันว่า ขา Download ทำได้ 100 Mbps (เมกะบิตต่อวินาที) และ Upload ทำได้ 50 Mbps
Ethernet — ให้เข้าใจว่าเป็นช่องสายแลน (LAN — Local Area Network) ที่บางบ้านทำช่องนี้ไว้ที่ผนังให้แล้ว
----------------------------------------
Mana Patanakarn
Designing Life's Foundation "มองรอบด้าน เพื่อชีวิต"
www.manapat.co.th
#มานะพัฒนาการ
#ManaPatanakarn
#DesigningLifesFoundation